วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาไทยกับประชาคมอาเซียน

เมื่อกล่าวถึงคำว่าอาเซียน  เมื่อหลายปีก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ปัจจุบันกระแสการตื่นตัวและการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอาเซียนนั้น ทำให้คนไทยต้องหันมาศึกษาในเรื่องของอาเซียนมากขึ้น  การรวมตัวของประชาคมอาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN)  เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ โดยมีกรอบความร่วมมือในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
1) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC)                                       
2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ  AEC)         
3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural  Community หรือ ASCC)
เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือของอาเซียนด้านการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน  ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง    สำหรับประเทศไทย ประโยชน์ที่จะได้รับในกรอบความร่วมมือกับอาเซียน  ได้แก่ ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ  และเทคนิคภายใต้โครงการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่อาศัยการผลักดันร่วมกันภายใต้กรอบอาเซียน  นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศที่จะมีสิทธิ มีเสียงในการผลักดันนโยบายของประเทศสู่เวทีระดับนานาชาติ ตลอดจนโอกาสในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในเวทีโลก         

ด้วยเหตุนี้  สำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงมีวิสัยทัศน์ที่จะทำให้บัณฑิตไทยมีความรู้ความสามารถในระดับสากล  และมีความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก  โดยได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการสำคัญคือ
1.   การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล 
โดยพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยในระดับที่ใช้ในการทำงานได้  รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิตไทย
2.   การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาคมอาเซียน 
โดยการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา  ให้พัฒนาศักยภาพของตนเองทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำบุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้มีคุณภาพระดับสากล พัฒนาระบบอุดมศึกษาแห่งอาเซียน
3.   การส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน  
โดยส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่เกี่ยวข้องกับสามเสาหลักในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะด้านสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน   สร้างความตระหนักในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและบทบาทของอุดมศึกษาไทยในการพัฒนาประชาคมอาเซียนทั้งในด้านบวกและด้านลบ  ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน  พัฒนาศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาไทยในอาเซียน  
ประการสำคัญที่จะทำให้ไทยเป็นผู้นำทางการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น  ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือและเห็นความสำคัญของการศึกษาให้มากขึ้น  และปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้ปรับตัวและขานรับนโยบายยุทธศาสตร์ ของ สกอ.  อาทิเช่น การปรับเปลี่ยนเวลาเปิดปิดภาคการศึกษาให้พร้อมกันกับอาเซียน  และหลายสถาบันมีการเตรียมปรับหลักสูตรให้เป็นนานาชาติมากขึ้น เพื่อให้นิสิตนักศึกษาต่างชาติสามารถเข้าเรียนร่วมกันได้ นับว่าเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ระหว่างกัน (Mobility of students and staff) ท้ายสุดแล้วอันจะเกิดการสร้างความร่วมมือหรือการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาต่อไป
และในฐานะที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานเป็นนักการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน ประการสำคัญคือ ต้องพัฒนาตัวเองในด้านภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี  และพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่นานาชาติต่อไปในอีกไม่ช้านี้   และอีกภารกิจที่สำคัญคือ พัฒนานักศึกษาของเราให้มีความรู้ ความเชียวชาญ และเป็นผู้นำในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สากล 
ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่นานแล้วที่ ประชาคมอาเซียนจะเริ่มต้นขึ้น  แล้วทุกคนพร้อมหรือยังที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน.....


อ้างอิงจาก